คำถามที่พบบ่อย (FAQ)

การกำหนดระดับตำแหน่ง

คำถาม: กรณีที่มหาวิทยาลัยยังไม่ได้ประเมินค่างานของตำแหน่งตามระบบบริหารงานบุคคลใหม่ สภามหาวิทยาลัยจะใช้วิธีการเทียบระดับตำแหน่งตามระบบบริหารงานบุคคลเดิมและระบบใหม่ โดยไม่จำกัดตำแหน่งและจำนวน เพื่อดำเนินการตามมติ ก.พ.อ. ครั้งที่ 4/2557 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 ได้หรือไม่
คำตอบ: (1) สภามหาวิทยาลัยอาจพิจารณานำกรอบตำแหน่งระดับควบเดิมของตำแหน่งที่บรรจุด้วยวุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี (ระดับ 1-3 และระดับ 2-4) และตำแหน่งที่บรรจุด้วยวุฒิการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป (ระดับ 3-6) ตามระบบบริหารงานบุคคลเดิม ไปใช้เป็นกรอบตำแหน่งระดับปฏิบัติงาน ระดับชำนาญงาน ระดับปฏิบัติการ และระดับชำนาญการได้ เนื่องจากตำแหน่งที่ ก.ม.กำหนดให้เป็นระดับปฏิบัติการเดิมนั้น ต่อมา ก.พ.อ. ได้พิจารณากำหนดให้เป็นตำแหน่งระดับปฏิบัติงาน (ระดับ 1-4) และระดับชำนาญงาน (ระดับ 5, 6) สำหรับตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติการ (ระดับ 3-5) และระดับชำนาญการ (ระดับ 6, 7) สำหรับตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะ อย่างไรก็ดี การกำหนดให้มีตำแหน่งใดในหน่วยงานใด ได้นั้น จะต้องเป็นไปตามภารกิจของหน่วยงานนั้นๆ ตามที่ ก.ม.หรือสภามหาวิทยาลัยได้เคยวิเคราะห์ไว้แล้วด้วย ดังนั้น สภามหาวิทยาลัยจึงต้องระบุไว้ให้ชัดเจนด้วยว่าในหน่วยงานใด ให้มีตำแหน่งระดับใด ในสายงานใดบ้าง เป็นจำนวนตำแหน่งเท่าใด
(2) สำหรับตำแหน่งระดับชำนาญงานพิเศษ และระดับชำนาญการพิเศษ ที่สภามหาวิทยาลัยพิจารณาเทียบเคียงมาจากกรอบตำแหน่งชำนาญการตามระบบเดิมนั้น เนื่องจากเดิมกรอบตำแหน่งระดับชำนาญการ (ระดับ 5, 6-7) ก.ม. จะพิจารณาว่าหน่วยงานที่มหาวิทยาลัยเสนอ ขอมามีความจำเป็นที่จะให้มีตำแหน่งผู้ชำนาญการในสายงานต่างๆ ได้หรือไม่ โดยพิจารณาความจำเป็นตามลักษณะงานของหน่วยงานและลักษณะงานของตำแหน่ง ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวจะต้องเป็นตำแหน่งที่ปฏิบัติงานตามภารกิจหลักของแต่ละหน่วยงาน ดังนั้น จึงเพียงแต่พิจารณาว่าแต่ละหน่วยงานมีความจำเป็นที่จะมีตำแหน่งผู้ชำนาญการได้หรือไม่ ในสายงานใดบ้าง ส่วนการวิเคราะห์ปริมาณงานและหน้าที่ความรับผิดชอบรายตำแหน่งเพื่อกำหนดว่าตำแหน่งใดให้เป็นระดับใดนั้นเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ดังนั้น หากมหาวิทยาลัยไม่ได้วิเคราะห์รายตำแหน่งและกำหนดจำนวนตำแหน่งไว้ก่อน ให้มหาวิทยาลัยนำกรอบของตำแหน่งระดับ 7-8 ที่ได้เคยใช้เพื่อแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งไปแล้วเท่าที่มีอยู่เดิมก่อนวันที่ 21 กันยายน 2553 มาใช้ได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2558 ภายใต้หลักการและเงื่อนไขที่ ก.พ.อ. กำหนด
อ้างอิง:

คำถาม: กรณีที่สภามหาวิทยาลัยนำกรอบของตำแหน่งระดับ 7-8 ที่ได้เคยใช้เพื่อแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งไปแล้วเท่าที่มีอยู่เดิมก่อนวันที่ 21 กันยายน 2553 มาใช้ในการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นตามมติ ก.พ.อ. ครั้งที่ 4/2557 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 นั้น สามารถนำกรอบตำแหน่งเดิมที่มีประเภทตำแหน่ง ชื่อตำแหน่ง และระดับตำแหน่งเดียวกัน แต่ต่างหน่วยงานกับตำแหน่งที่จะเสนอแต่งตั้ง หรือนำกรอบตำแหน่งเดิมที่มีประเภทตำแหน่ง ระดับตำแหน่ง ภายในหน่วยงานเดียวกัน แต่ชื่อตำแหน่งต่างกันกับตำแหน่งที่จะเสนอแต่งตั้ง มาใช้ได้หรือไม่
คำตอบ: การกำหนดตำแหน่งให้เป็นชื่อตำแหน่งใด ระดับใดนั้น จะต้องมีการวิเคราะห์และกำหนดให้มีได้ ตามภารกิจของหน่วยงานและลักษณะงานของตำแหน่งนั้นๆ ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงไม่อาจนำกรอบของตำแหน่งต่างสายงาน หรือตำแหน่งที่ถูกกำหนดไว้ตามภารกิจของหน่วยงานอื่น มาสลับสับเปลี่ยนเพื่อใช้แต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นได้
อ้างอิง:

คำถาม: คณะกรรมการประเมินเพื่อแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นประจำสถาบันอุดมศึกษา มีหน้าที่กลั่นกรองผลการประเมินค่างานของตำแหน่งประเภททั่วไป ประเภทวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งประเภทผู้บริหารตามโครงสร้างใช่หรือไม่
คำตอบ: ตำแหน่งประเภทผู้บริหาร (ระดับผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดีหรือเทียบเท่า และระดับผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่า) ก.พ.อ. มิได้กำหนดให้เป็นตำแหน่งที่ต้องมีการประเมินค่างาน เนื่องจากในการจัดทำกฎหมายจัดตั้งส่วนราชการในระดับสำนักงานอธิการบดี สำนักงาน วิทยาเขต และในระดับกองหรือสำนักงานคณบดี หรือส่วนราชการที่มีชื่อรียกอย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า จะต้องมีการวิเคราะห์ความจำเป็นและภารกิจของหน่วยงานอยู่แล้ว และจำเป็นต้องมีหัวหน้าส่วนราชการเพื่อกำกับดูแลและบริหารกิจการต่างๆ ตามภารกิจของส่วนราชการดังกล่าว ซึ่ง ก.พ.อ. ได้กำหนดระดับตำแหน่งไว้แล้ว ตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งประเภทผู้บริหาร จึงไม่จำเป็นต้องประเมินค่างานเพื่อกำหนดระดับตำแหน่งของตำแหน่งประเภทผู้บริหารอีก ดังนั้น คณะกรรมการประเมินเพื่อแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นจึงมีหน้าที่ประเมิน ผลสัมฤทธิ์ของงานตามตัวชี้วัดของตำแหน่งที่ครองอยู่ ความรู้ ความสามารถ ทักษะ และสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับตำแหน่ง และประเมินสมรรถนะทางการบริหารสำหรับตำแหน่งประเภทผู้บริหาร ตลอดจนพิจารณากลั่นกรองผลการประเมินบุคคล เพื่อเสนอสภาสถาบัน อุดมศึกษาพิจารณาอนุมัติ/ไม่อนุมัติแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่อไป
อ้างอิง:
การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง

คำถาม: ตามที่ ก.พ.อ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อประเมินผลงานและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพ กรรมการจะต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถและความชำนาญตรงกับวิชาชีพของตำแหน่งที่จะแต่งตั้ง และต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าตำแหน่งที่จะแต่งตั้งหรือเทียบเท่า กรณีนี้คณะกรรมการประเมินเพื่อแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นของมหาวิทยาลัยจะแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ซึ่งเดิมดำรงตำแหน่งระดับ ๗ ทำหน้าที่ประเมินผลงานฯ สำหรับตำแหน่งระดับชำนาญการ ได้หรือไม่
คำตอบ: ตามระบบบริหารงานบุคคลที่ ก.พ.อ. กำหนดใหม่นั้น ตำแหน่งอาจารย์เป็นตำแหน่งระดับเริ่มต้นของตำแหน่งวิชาการ เทียบได้กับระดับปฏิบัติการซึ่งเป็นระดับเริ่มต้นของตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะ ดังนั้น การแต่งตั้งผู้ที่ดำรงตำแหน่งอาจารย์ทำหน้าที่ประเมินผลงานฯ ของตำแหน่งระดับชำนาญการ จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ.อ. กำหนด
อ้างอิง:

คำถาม: ตามที่ ก.พ.อ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อประเมินผลงานและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพ กรณีตำแหน่งระดับชำนาญงานหรือชำนาญการ ต้องแต่งตั้งกรรมการจากบุคคลภายในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งอยู่ต่างสังกัดหน่วยงานกับผู้เสนอขอแต่งตั้ง (หน่วยงานระดับคณะ สำนัก ศูนย์ สถาบัน) และกรรมการภายนอกสถาบันอุดมศึกษาอีกอย่างน้อยหนึ่งคน รวมจำนวนไม่น้อยกว่าสามคน แต่เนื่องจากมหาวิทยาลัยไม่สามารถแต่งตั้งกรรมการจากบุคคลภายในที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ.อ. กำหนดได้แม้เพียง หนึ่งคน กรณีนี้มหาวิทยาลัยจะแต่งตั้งกรรมการจากบุคคลภายนอกทั้งหมดได้หรือไม่
คำตอบ: ก.พ.อ. ได้มีมติในเรื่องนี้ว่า กรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อประเมินผลงานและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพ ตำแหน่งระดับชำนาญงานหรือชำนาญการจากบุคคลภายในสถาบันอุดมศึกษาได้ ให้คณะกรรมการประเมินเพื่อแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นของสถาบันอุดมศึกษา พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการฯ จากบุคคลภายนอกสถาบันทั้งหมดได้ โดยความเห็นชอบของสภาสถาบันอุดมศึกษา ทั้งนี้ ให้ดำเนินการได้เฉพาะกรณีที่ไม่มีบุคคลภายในที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ.อ. กำหนดเท่านั้น และให้สถาบันอุดมศึกษารายงานผลการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง พร้อมทั้งแจ้งรายละเอียดแสดงเหตุผลความจำเป็นที่ไม่สามารถแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ.อ. กำหนดได้นั้น ให้ ก.พ.อ. ทราบด้วย
อ้างอิง:

คำถาม: การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการประเมินเพื่อแต่งตั้งตำแหน่งประเภทผู้บริหาร และประเภทวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะ กรณีหัวหน้าหน่วยงาน ตามประกาศมหาวิทยาลัยฯ กำหนดให้มีกรรมการซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับตำแหน่งที่จะแต่งตั้ง ไม่น้อยกว่า ๑ คน กรณีนี้จะสามารถกำหนดให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งอาจารย์ซึ่งทำหน้าที่ด้านบริหารในตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดี รองคณบดีหรือรองหัวหน้าหน่วยงานอื่นที่เทียบเท่า ผู้ช่วยคณบดี หัวหน้าสาขาวิชา หัวหน้าภาควิชาหรือหัวหน้าหน่วยงานอื่นที่เทียบเท่า เป็นกรรมการได้หรือไม่
คำตอบ: ตามข้อ 12 ของประกาศ ก.พ.อ. เรื่องมาตรฐานการกำหนดระดับตำแหน่งและการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น พ.ศ. 2553 กำหนดให้คณะกรรมการประเมินเพื่อแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น สามารถพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อทำหน้าที่ประเมินผลสัมฤทธิ์ของงานตามตัวชี้วัดของตำแหน่งที่ครองอยู่ ความรู้ ความสามารถ ทักษะ และสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งที่จะประเมิน รวมถึงประเมินสมรรถนะทางการบริหารสำหรับตำแหน่งประเภทผู้บริหารได้ตามความเหมาะสม โดย ก.พ.อ. ไม่ได้กำหนดบังคับองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการดังกล่าวไว้ ดังนั้น หากสภามหาวิทยาลัยหรือคณะกรรมการที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย พิจารณากำหนดให้กรรมการ ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับตำแหน่งที่จะแต่งตั้งตามประกาศมหาวิทยาลัยฯ หมายความรวมถึงระดับตำแหน่งทางการบริหารด้วย และคณะกรรมการประเมินฯ พิจารณาเห็นว่าผู้ทรงคุณวุฒิที่ดำรงตำแหน่งอาจารย์และดำรงตำแหน่งทางการบริหารดังกล่าวมีความเหมาะสม ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินผลสัมฤทธิ์ของงาน ความรู้ ความสามารถ ทักษะ สมรรถนะที่จำเป็นสำหรับตำแหน่ง และสมรรถนะทางการบริหารของตำแหน่งที่จะประเมิน ก็ไม่เป็นการขัดหรือแย้งกับประกาศ ก.พ.อ. ฯ แต่อย่างใด ซึ่งกรณีนี้แตกต่างจากกรณีการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อประเมินผลงานและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพ ซึ่ง ก.พ.อ. กำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไว้อย่างชัดเจนว่า จะต้องแต่งตั้งผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ไม่ต่ำกว่าตำแหน่งที่จะแต่งตั้ง เนื่องจากผู้ที่จะทำหน้าที่ประเมินผลงานฯ ย่อมต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ตามสายงานวิชาชีพเป็นหลัก จึงต้องมีระดับตำแหน่งตามสายงานสูงกว่าผู้ขอรับการประเมิน และไม่อาจแต่งตั้งผู้ที่ดำรงตำแหน่งอาจารย์ซึ่งเป็นสายงานเริ่มต้นของตำแหน่ง และไม่เคยได้รับการประเมินผลงานมาก่อนทำหน้าที่ประเมินผลงานฯ ของ ผู้ขอรับการประเมินให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นได้
อ้างอิง:

คำถาม: การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งประเภทผู้บริหารโดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่มหาวิทยาลัย ได้รับเรื่อง กระทำได้หรือไม่
คำตอบ: การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นในตำแหน่งประเภทผู้บริหาร เป็นการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่างประเภท ต่างสายงาน มิใช่เป็นกรณีการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งใหม่ที่สภาสถาบันอุดมศึกษาได้กำหนดจากตำแหน่งเดิมให้เป็นระดับสูงขึ้นและผู้นั้นได้ดำรงตำแหน่งที่การได้รับการกำหนดเป็นระดับสูงขึ้นนั้นอยู่แล้ว ดังนั้น การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งประเภทผู้บริหารจึงจะแต่งตั้งได้ไม่ก่อนวันที่บุคคลนั้นจะเข้ารับการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งโดยปกติสถาบันอุดมศึกษาจะแต่งตั้งบุคคลได้ไม่ก่อนวันที่ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งลงนามในคำสั่ง ซึ่งจะต้องไม่ก่อนวันที่สภาสถาบันอุดมศึกษาหรือคณะกรรมการที่สภาสถาบันอุดมศึกษามอบหมายได้พิจารณาผลการประเมินและมีมติอนุมัติแต่งตั้งแล้ว หรือหากจะแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งย้อนหลังไปก่อนวันที่สภามหาวิทยาลัยเห็นชอบผลการประเมินอาจสามารถแต่งตั้งได้ ในกรณีที่บุคคลนั้นมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ.อ. กำหนดและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งที่จะแต่งตั้งดังกล่าวอยู่ก่อนแล้ว ทั้งนี้ สภาสถาบันอุดมศึกษาจะต้องกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวไว้ในข้อบังคับหรือประกาศของสภามหาวิทยาลัยด้วย
อ้างอิง:

คำถาม: กรณีการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะ ตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงาน จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งโดยมีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ได้รับเรื่อง ได้เช่นเดียวกับกรณีตำแหน่งที่ปฏิบัติงานเฉพาะด้านหรือเฉพาะทาง (ประเมินผลงาน) หรือไม่
คำตอบ: ตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงาน เป็นตำแหน่งที่มีการกำหนดขึ้นโดยการประเมินค่างาน ซึ่งมีลักษณะงานบังคับบัญชา และจะต้องได้รับการแต่งตั้งเข้าสู่ตำแหน่งแล้วจึงจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ หลักในการแต่งตั้งบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งจึงเป็นเช่นเดียวกับตำแหน่งประเภทผู้บริหาร กล่าวคือ จะแต่งตั้งบุคคลได้ไม่ก่อนวันที่ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งลงนามในคำสั่ง ซึ่งจะต้องไม่ก่อนวันที่สภาสถาบันอุดมศึกษาหรือคณะกรรมการที่สภาสถาบันอุดมศึกษามอบหมายได้พิจารณาผลการประเมินและมีมติอนุมัติแต่งตั้งแล้ว หรือหากจะแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งย้อนหลังไปก่อนวันที่สภามหาวิทยาลัยเห็นชอบผลการประเมินอาจสามารถแต่งตั้งได้ในกรณีที่บุคคลนั้นมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ.อ. กำหนดและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งที่จะแต่งตั้งดังกล่าวอยู่ก่อนแล้ว ทั้งนี้ สภาสถาบันอุดมศึกษาจะต้องกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวไว้ในข้อบังคับหรือประกาศของสภามหาวิทยาลัยด้วย
อ้างอิง:

คำถาม: หากมหาวิทยาลัยได้รับเรื่องขอกำหนดระดับตำแหน่งสูงขึ้นจากหน่วยงานพร้อมกับได้รับเรื่องจากบุคคลผู้เสนอขอรับการประเมินให้ดำรงตำแหน่งที่หน่วยงานเสนอขอกำหนดระดับตำแหน่งสูงขึ้นนั้น กรณีนี้หากสภามหาวิทยาลัยมีมติอนุมัติผลการประเมินค่างานและกำหนดให้ตำแหน่งดังกล่าวเป็นตำแหน่งระดับสูงขึ้นได้ สภามหาวิทยาลัยจะมีมติแต่งตั้งบุคคลที่ผ่านการประเมินคุณสมบัติและผลงานให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่มหาวิทยาลัยได้รับเรื่อง ได้หรือไม่
คำตอบ: ตามข้อ 4 ของประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง มาตรฐานกำหนดระดับตำแหน่งและการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น พ.ศ. 2553 กำหนดให้การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นจะต้องเป็นตำแหน่งที่สถาบันอุดมศึกษาได้ประเมินค่างานแล้ว กรณีนี้สภามหาวิทยาลัยจึงไม่อาจมีมติแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ได้รับเรื่องได้ เนื่องจากวันดังกล่าวยังไม่มีการพิจารณาประเมินค่างานและสภามหาวิทยาลัยยังมิได้มีมติอนุมัติกำหนดระดับตำแหน่งสูงขึ้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ.อ. กำหนดและข้อบังคับ ของสภามหาวิทยาลัย และจะแต่งตั้งบุคคลได้ไม่ก่อนวันที่อนุมัติให้มีตำแหน่งดังกล่าวแล้ว
อ้างอิง:

คำถาม: กรณีที่ผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีครบวาระการดำรงตำแหน่ง (180 วัน) แล้ว แต่มีการประชุมสภามหาวิทยาลัยเพื่อแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีคนใหม่ภายหลังจากวันที่คนเดิมครบวาระการดำรงตำแหน่งไปแล้วนั้น สภามหาวิทยาลัยจะสามารถมีมติแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนย้อนหลังไปถึงวันถัดจากวันที่ผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีคนเดิมครบวาระได้หรือไม่
คำตอบ: กรณีนี้เมื่อพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยบัญญัติให้สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี ดังนั้น เมื่อสภามหาวิทยาลัยยังมิได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาและลงมติคัดเลือก ย่อมไม่อาจทราบได้ว่าผู้ใดจะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีนั้น และไม่อาจมีผู้ใดจะไปปฏิบัติหน้าที่ย้อนหลังไปก่อนวันที่สภามหาวิทยาลัยจะมีมติและคำสั่งแต่งตั้งได้ กรณีนี้สภามหาวิทยาลัยจึงไม่อาจมีมติแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีย้อนหลังไปก่อนวันที่มีการประชุมพิจารณาและลงมติได้
อ้างอิง:

คำถาม: ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทผู้บริหาร ระดับผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี หรือเทียบเท่า และระดับผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่า หากภายหลังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ ในตำแหน่งดังกล่าวได้ จะสามารถลาออกจากตำแหน่ง โดยไม่ออกจากราชการได้หรือไม่
คำตอบ: ตำแหน่งประเภทผู้บริหาร (ระดับผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดีหรือเทียบเท่า และระดับผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่า) เป็นตำแหน่งตามสายงาน มิใช่เป็นตำแหน่งประเภทผู้บริหารที่มีวาระการดำรงตำแหน่ง และไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดบัญญัติเรื่องการลาออกจากตำแหน่งตามสายงานไว้ โดยบัญญัติไว้เฉพาะเรื่องการลาออกจากราชการ อย่างไรก็ดี หากข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งประเภทผู้บริหารดังกล่าวประสงค์จะขอย้ายหรือย้ายสับเปลี่ยน เพื่อไปดำรงตำแหน่งอื่น อธิการบดีโดยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยหรือคณะกรรมการ ที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมายอาจพิจารณาอนุมัติย้ายข้าราชการดังกล่าวไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับเดียวกันหรือในระดับที่ต่ำกว่าเดิม (ตำแหน่งว่าง) ได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของสภามหาวิทยาลัย โดยต้องพิจารณาคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งตรงกับมาตรฐานกำหนดตำแหน่งที่จะย้ายไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง และคำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการเป็นสำคัญ ทั้งนี้ หากเป็นกรณีที่จะย้ายข้าราชการไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่ต่ำกว่าเดิม จะต้องเป็นไปตามความประสงค์ของข้าราชการผู้นั้นและได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน
อ้างอิง:

คำถาม: ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งดำรงตำแหน่งระดับผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่า สามารถเทียบตำแหน่งเพื่อเป็นคุณสมบัติเฉพาะ สำหรับตำแหน่งประเภทเชี่ยวชาญเฉพาะ ระดับเชี่ยวชาญ ได้หรือไม่
คำตอบ: คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งประเภทเชี่ยวชาญเฉพาะ ระดับเชี่ยวชาญ กำหนดว่าจะต้องเคยดำรงตำแหน่งประเภทเชี่ยวชาญเฉพาะ ระดับชำนาญการพิเศษ มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือตำแหน่งประเภทอื่นตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ก.พ.อ. กำหนด ทั้งนี้ ก.พ.อ. ยังมิได้มีการกำหนดตำแหน่งประเภทอื่นใดให้เป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งดังกล่าวเพิ่มเติม ดังนั้น ตำแหน่งระดับผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่า จึงมิใช่คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งประเภทเชี่ยวชาญเฉพาะ ระดับเชี่ยวชาญ อย่างไรก็ดี หากข้าราชการผู้ใด เคยดำรงตำแหน่งประเภทเชี่ยวชาญเฉพาะ ระดับชำนาญการพิเศษ มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี อยู่ก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่า ย่อมถือว่ามีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งประเภทเชี่ยวชาญเฉพาะ ระดับเชี่ยวชาญ ตามที่ ก.พ.อ. กำหนดแล้ว
อ้างอิง:
การให้ได้รับเงินประจำตำแหน่ง

คำถาม: กรณีที่มหาวิทยาลัยมีคำสั่งแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรองหัวหน้าส่วนราชการ เช่น รักษาราชการแทนรองอธิการบดี รักษาราชการแทนรองคณบดี ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย จะให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้รับเงินประจำตำแหน่งตามข้อ 9 ของกฎ ก.พ.อ. การได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2556 ได้หรือไม่
คำตอบ: การให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งนั้นประกอบด้วย 2 ส่วน คือ (1) ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด และ (2) ได้ปฏิบัติหน้าที่หลักของตำแหน่งนั้น กรณีนี้หากพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยมิได้กำหนดกรณีผู้รักษาราชการแทนในตำแหน่งรองหัวหน้าส่วนราชการ และบัญญัติไว้เฉพาะกรณีการแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนหัวหน้าส่วนราชการ ได้แก่ ผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการและหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ดังนั้น การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรองหัวหน้าส่วนราชการดังกล่าวจึงไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัย และไม่อาจกำหนดให้เป็นตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งได้
ทั้งนี้ การที่กฎหมายกำหนดไว้เฉพาะกรณีหัวหน้าส่วนราชการเท่านั้น เนื่องจากจำเป็นจะต้องมี ผู้ที่ทำหน้าที่ดังกล่าว มิฉะนั้นย่อมเกิดความเสียหายต่องานราชการได้ และเมื่อมีการแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนหัวหน้าส่วนราชการแล้ว ผู้นั้นย่อมมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับ ผู้ซึ่งตนแทน ในกรณีที่มีความจำเป็น ก็สามารถเสนอแต่งตั้งรองหัวหน้าส่วนราชการในระดับต่างๆ ได้ตามที่กฎหมายกำหนด โดยมิจำเป็นต้องแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนแต่อย่างใด และรองหัวหน้าส่วนราชการนั้นจะมีวาระการดำรงตำแหน่งเป็นไปตามวาระการดำรงตำแหน่งของผู้รักษาราชการแทนหัวหน้าส่วนราชการนั้น
อ้างอิง:

คำถาม: กรณีที่อธิการบดีมีคำสั่งแต่งตั้งรองคณบดี หรือรองหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะให้ดำรงตำแหน่งย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่คณบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการ ที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะเสนอ จะให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งได้ตั้งแต่เมื่อใด
คำตอบ: การให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งนั้นประกอบด้วย 2 ส่วน คือ (1) ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด และ (2) ได้ปฏิบัติหน้าที่หลักของตำแหน่งนั้น ดังนั้น แม้ว่า ก.พ.อ. จะให้ความเห็นชอบทะเบียนตำแหน่งในกรณีดังกล่าวครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งจนถึงวันที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง แต่การเบิกจ่ายเงินประจำตำแหน่ง มหาวิทยาลัยจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการเบิกจ่ายตามความเป็นจริง โดยจะจ่ายเงินประจำตำแหน่งได้ตั้งแต่วันที่บุคคลนั้นได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งแล้วเท่านั้น
อย่างไรก็ดี แม้ว่าตำแหน่งประเภทผู้บริหารระดับรองหัวหน้าส่วนราชการระดับคณะ กฎหมายจะบัญญัติให้อธิการบดีแต่งตั้งโดยคำแนะนำของหัวหน้าส่วนราชการระดับคณะ แต่ในกระบวนการพิจารณาเสนอแต่งตั้งนั้น จะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติ และยังคงเป็นดุลพินิจของอธิการบดีที่จะพิจารณาความเหมาะสมของผู้ดำรงตำแหน่งได้ ดังนั้น การเข้าปฏิบัติหน้าที่ก่อนที่จะมีคำสั่งแต่งตั้ง จึงอาจก่อให้เกิดปัญหาในข้อกฎหมายหรือมีความสุ่มเสี่ยง ที่อาจเกิดกรณีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในภายหลังได้ หรือหากเป็นกรณีที่ผู้ได้รับแต่งตั้งยังไม่ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ แต่มีการออกคำสั่งย้อนหลังไปตามที่เสนอขอมา ก็อาจเกิดกรณีปัญหาการเบิกจ่ายเงินประจำตำแหน่งไม่ชอบด้วยกฎหมายได้เช่นกัน ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาจะต้องพึงระมัดระวังมิให้เกิดกรณีการเบิกจ่ายเงินประจำตำแหน่งก่อนที่บุคคลนั้นจะเข้าปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง ซึ่งก็เป็นการพิสูจน์ได้ยากว่า บุคคลนั้นได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ก่อนมีคำสั่งแต่งตั้งหรือไม่ จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่สมควรและไม่เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ กรณีจึงไม่ควรมีการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งย้อนหลังไปก่อนวันที่มีคำสั่งแต่งตั้ง
อ้างอิง:

คำถาม: กรณีที่มหาวิทยาลัยมีคำสั่งแต่งตั้งให้รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาเขต ผู้อำนวยการกองหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากอง มหาวิทยาลัยจะเบิกจ่ายเงินประจำตำแหน่งให้กับผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ได้หรือไม่
คำตอบ: กฎ ก.พ.อ. การได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2556 กำหนดเฉพาะผู้ได้รับแต่งตั้งให้รักษาราชการแทนในตำแหน่งประเภทผู้บริหารที่มีวาระการดำรงตำแหน่ง ที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง ทั้งนี้ไม่เกินหกเดือน สำหรับการแต่งตั้งให้รักษาการ ในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาเขต ผู้อำนวยการกองหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากอง กฎ ก.พ.อ. มิได้บัญญัติให้เป็นตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง มหาวิทยาลัยจึงไม่อาจดำเนินการเบิกจ่ายเงินประจำตำแหน่งให้กับผู้รักษาการในตำแหน่งดังกล่าวได้
อ้างอิง: